การพัวพันเชิงควอนตัม (Quantum Entanglement) เป็นหนึ่งในความหวังของการปฏิรูปวิธีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ต้นทุนต่ำ และความเร็วสูง โดยเฉพาะในด้านการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ล่าสุด นักวิจัยจากเยอรมนีได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยลงในวารสารทางวิทยาศาสตร์ชื่อดังอย่างเนเจอร์ (Nature) ว่าสามารถทำให้อะตอม 2 อนุภาคมีปรากฏการณ์พัวพันทางควอนตัมในระยะทางไกลกว่า 33 กิโลเมตรภายใต้การเชื่อมโยงผ่านเส้นใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) ได้สำเร็จ
การพัวพันเชิงควอนตัม (Quantum Entanglement) เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่ออนุภาคมากกว่า 2 ตัวขึ้นไปมีความเชื่อมโยงด้วยการใช้สถานะทางควอนตัม (Quantum State) ที่เกี่ยวโยงกันแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ใกล้กันก็ตาม ซึ่งสถานะทางควอนตัมเป็นการอธิบายความน่าจะเป็นของการกระจายตัวของอนุภาคที่มีผู้สังเกตในรูปแบบฟังก์ชันทางคณิตศาสตร์ ดังนั้น อนุภาคที่เกิดปรากฏการณ์พัวพันเชิงควอนตัมจึงสามารถที่จะส่งผ่านพลังงานผ่านอนุภาคในรูปแบบของคลื่นได้เนื่องจากมีโอกาสที่อนุภาคจะอยู่ในตำแหน่งที่รับพลังงานที่เดินทางมาถึง
ในงานวิจัยจากคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลุดวิกแม็กซิมิเลียนแห่งมิวนิก (Ludwig-Maximilians-University of Munich: LMU Munich) และมหาวิทยาลัยซาร์ลันด์ (Saarland University) ได้นำอะตอมของธาตุรูบิเดียม (Rubidium) จำนวน 2 ตัว ซึ่งเป็นที่นิยมนำมาใช้งานเชิงควอนตัมเพราะสังเกตปรากฏการณ์ทางควอนตัมในรูปแบบต่าง ๆ ได้ง่าย มาทำให้อยู่ในสถานะพัวพัน (Entangled atoms) แล้วให้อนุภาค 2 ตัว อยู่ห่างจากกันภายในเส้นใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) เพื่อทำการทดสอบปรากฏการณ์พัวพันเชิงควอนตัม
การทดสอบในงานวิจัยครั้งนี้ คือ การกระตุ้นอะตอมธาตุรูบิเดียม (Rubidium) ด้วยแสงเลเซอร์ความเข้มสูง จากนั้นคลื่นแสงที่เกิดขึ้นในเชิงอนุภาคซึ่งเรียกว่าโฟตอน (Photon) เพื่อให้เดินทางไปกระตุ้นการทำงานของอะตอมธาตุรูบิเดียม (Rubidium) อีกตัวที่กำหนดให้รับสัญญาณ โดยกระบวนการทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นภายในเส้นใยแก้วนำแสงซึ่งห่างกันเป็นระยะทาง 33 กิโลเมตร ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดี
ความสำเร็จในครั้งนี้เป็นที่น่าตื่นเต้นสำหรับนักฟิสิกส์และผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก เพราะว่าโดยปกติแล้ว ปรากฏการณ์นี้จะไม่สามารถเดินทางเป็นระยะทางที่ยาวมากนักได้ และถ้าทำได้ จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขพิเศษซึ่งไม่สอดคล้องกับการใช้งานในทางปฏิบัติ ต่างจากการทดลองในครั้งนี้นั้นมีเงื่อนไขที่เรียกว่าความยาวคลื่น (Wavelength) อยู่ที่ 1,517 นาโนเมตร (nm) ซึ่งใกล้เคียงกับความยาวคลื่นปกติที่ใช้ส่งสัญญาณภายในใยแก้วนำแสงที่ 1,550 นาโนเมตร (nm)
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงในเนเจอร์ (Nature) ชิ้นนี้เป็นหมุดหมายสำคัญที่จะทำให้การนำเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตควอนตัม (Quantum Internet) มาใช้งานนั้นเป็นจริงขึ้นมาได้ เพราะการทดลองในครั้งนี้ใช้พื้นฐานทางเทคโนโลยีเดียวกันกับที่วงการโทรคมนาคมใช้ในการรับส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ต อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้ในการนำไปใช้คู่กับระบบส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมในอนาคตอีกด้วย
ที่มาข้อมูล
https://newatlas.com/telecommunications ... ce-record/
ที่มารูปภาพ
Unsplash
#ควอนตัม #อินเทอร์เน็ต #True #เน็ตบ้าน #เยอรมนี #วิจัย #งานวิชาการ #Nature #อะตอม #วิทยาศาสตร์ #เทคโนโลยี #TNNTechreports #Techreports #TNNONLINE #TNNThailand #TNNช่อง16 #นวัตกรรมใหม่ #DThanaboon
—————————————————————————
ติดตาม TNN Tech ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ที่
• Website : https://bit.ly/TNNTechWebsite
• Youtube : https://bit.ly/TNNTechYoutube
• TikTok : https://bit.ly/TNNTechTikTok
• Line @TNNONLINE : https://lin.ee/4fP2tltIo
หรือดูรายการ Live ได้ทาง
https://www.facebook.com/TNN16LIVE/#