https://www.facebook.com/MilitaryAndDiplomat/?fref=nf" />

เกมการเมืองเรื่องรัสเซียจะติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในเบลารุส

การทูตและการทหาร Military & Diplomat
@MilitaryAndDiplomat
.
.
https://www.facebook.com/MilitaryAndDiplomat/?fref=nf
ภาพประจำตัวสมาชิก
admin
Administrator
Administrator
โพสต์: 13567
ลงทะเบียนเมื่อ: พฤหัสฯ. 21 พ.ค. 2015 12:14 pm
กลุ่ม: ผู้ดูแลระบบ

เกมการเมืองเรื่องรัสเซียจะติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในเบลารุส

โพสต์โดย admin » จันทร์ 27 มี.ค. 2023 7:12 pm

เกมการเมืองเรื่องรัสเซียจะติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในเบลารุส

จากข่าวที่ปูตินประกาศว่ารัสเซียจะติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในเบลารุส ส่งผลให้ตะวันตกออกมาโวย สื่อและเพจต่างๆมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ส่วนตัวผมกลับมองว่าเรื่องนี้ไม่ได้ใหญ่โตอะไรเลย ถ้าเข้าใจความเป็นมาของเกมการเมืองเบื้องหลังแล้วจะรู้สึกเลยว่าท่าทีที่เหมาะสมที่สุดต่อข่าวนี้คือการจิบชาสบายๆ แต่ดูจากสภาพอากาศตอนนี้แล้ว การดูดชานมเย็นอาจเหมาะสมกว่า (ฮา)

ก่อนอื่นผมขออธิบายก่อนว่าการติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ยุทธวิธีของรัสเซีย ซึ่งหลักๆก็คงจะเป็นขีปนาวุธ Iskander-M ที่สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ขนาดใหญ่สุด 50 กิโลตัน (แรงระเบิดมากกว่าระเบิดปรมาณูที่สหรัฐฯทิ้งใส่เมืองฮิโรชิมาประมาณ 3 เท่า) ในเบลารุสนั้นไม่ได้ส่งผลต่อดุลอำนาจนิวเคลียร์ในยุโรปมากนัก เพราะปัจจุบันรัสเซียก็มีขีปนาวุธ Iskander-M ในคาลินินกราดและไครเมียอยู่แล้ว ความสำคัญจริงๆอยู่ที่เรื่องการเมืองต่างหาก

สนธิห้ามแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ (Treaty on the Non-Proliferation of Nuclear Weapons เรียกย่อๆว่า Non-Proliferation Treaty หรือ NPT) ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปลายยุค 60 และปัจจุบันเกือบทุกประเทศในโลกรวมถึงสหรัฐฯและรัสเซียก็เป็นภาคีอยู่ ห้ามไม่ให้ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์เผยแพร่อาวุธดังกล่าวให้ประเทศที่ 3 ปัญหาคือสมัยสงครามเย็น ลำพังอาวุธนิวเคลียร์ที่อังกฤษและฝรั่งเศสมีอยู่ในยุโรป ไม่สามารถถ่วงดุลกับโซเวียตได้ (แถมฝรั่งเศสสมัยชาร์ล เดอ โกล ก็ไม่ค่อยยอมร่วมมือกับ NATO ด้วย) สหรัฐฯเลยเลี่ยงบาลีทำข้อตกลง "แชร์อาวุธนิวเคลียร์" (Nuclear sharing) กับหลายประเทศในยุโรป ให้สหรัฐฯเอาอาวุธนิวเคลียร์เข้าไปเก็บหรือติดตั้งในประเทศเหล่านี้ได้ และให้ประเทศเหล่านี้มีส่วนร่วมใช้งานนิวเคลียร์ของสหรัฐฯได้ด้วย โดยสหรัฐ์อ้างว่าการกระทำดังกล่าวไม่ละเมิดสนธิสัญญา NPT เพราะสหรัฐฯไม่ได้ยกอาวุธนิวเคลียร์ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของประเทศที่ 3 แต่อย่างใด แค่ฝากเก็บไว้เฉยๆ แต่ให้ประเทศเหล่านั้นร่วมใช้ด้วยได้นะ ปัจจุบันการแชร์อาวุธนิวเคลียร์นั้นได้พัฒนาจากข้อตกลงทวิภาคีมาเป็นหนึ่งในนโยบายของ NATO เลย

แฟนเพจหลายท่านอาจไม่ทราบว่าปัจจุบันสหรัฐฯมีระเบิดนิวเคลียร์ B61 ซึ่งสามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ขนาดใหญ่สุดถึง 340 กิโลตัน จำนวนมากกว่า 100 ลูก (ข้อมูลบางแหล่งว่ามีถึง 150 ลูก) เก็บอยู่ในหลายประเทศในยุโรปเช่น เบลเยียม เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ อิตาลี ฯลฯ ตามนโยบายแชร์อาวุธนิวเคลียร์ของ NATO โดยมีข้อบังคับเลยว่าประเทศสมาชิก NATO ที่จะเข้าร่วมนโยบายนี้ จำเป็นต้องมีเครื่องบินรบที่ใช้นิวเคลียร์ของสหรัฐฯได้ เรื่องนี้เคยมีดราม่าเมื่อหลายปีก่อนตอนที่กองทัพอากาศเยอรมันจะปลดประจำการเครื่องบินโจมตี Panavia Tornado ซึ่งเป็นเครื่องบินรบที่เยอรมนีกำหนดให้เป็นรุ่นที่ใช้ระเบิดนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ประเด็นคือเมื่อเยอรมนีจะปลดประจำการ Tornado ก็อยากจัดหาเครื่องบินขับไล่ที่ผลิตเองคือ Eurofighter Typhoon มาทดแทน แต่ก่อนหน้านี้เยอรมนีไม่ได้ทำเรื่องให้สหรัฐฯรับรองคุณสมบัติของ Typhoon ว่าใช้ระเบิดนิวเคลียร์ของสหรัฐฯได้มาก่อน เพิ่งจะมาทำเรื่องขอให้สหรัฐฯรับรองตอนจะปลดประจำการ Tornado แล้ว สหรัฐฯก็เลยถือโอกาสเตะถ่วงไม่ยอมออกใบรับรอง Typhoon ให้ เพื่อกดดันให้เยอรมนีต้องจัดหาเครื่องบินรบจากสหรัฐฯนั่นเอง เรื่องก็คาราคาซังมาเรื่อยๆจนกระทั่งเกิดสงครามในยูเครนเมื่อปีที่แล้ว เยอรมนีจึงยอมจัดหาเครื่องบินขับไล่ F-35 จากสหรัฐฯ

ทีนี้เมื่อสหรัฐฯทำการเลี่ยงบาลีสนธิสัญญา NPT ด้วยการ "แชร์อาวุธนิวเคลียร์" ให้ประเทศสมาชิก NATO ในยุโรปเป็นตัวอย่างแล้ว รัสเซียก็สามารถแชร์หัวรบนิวเคลียร์ของขีปนาวุธ Iskander-M ให้เบลารุสที่เพิ่งจัดหาขีปนาวุธ Iskander จากรัสเซียไปเมื่อปีที่แล้วได้ด้วยหลักการเดียวกันเลย รัสเซียไม่ได้ละเมิดสนธิสัญญา NPT เพราะไม่ได้ยกหัวรบนิวเคลียร์ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของเบลารุส แค่ฝากเก็บไว้เฉยๆ ถ้าเกิดเหตุจำเป็นก็อาจให้เบลารุสใช้ร่วมกันได้ด้วยเท่านั้นเอง เรื่องมันก็เอวังด้วยประการฉะนี้

เห็นมั้ยครับว่าถ้าเข้าใจความเป็นมาของเกมการเมืองเบื้องหลังแล้ว ก็จะรู้สึกว่าการที่รัสเซียจะติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในเบลารุสไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรเลย เดี๋ยวดูดชาเย็นหมดแล้ว ก็ต่อด้วยน้ำแดงโซดาดีกว่า (ฮา)

สวัสดี

27.03.2023



ย้อนกลับไปยัง

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: 1 และ บุคคลทั่วไป 0 ท่าน