ท่องอวกาศ
ถูกใจเพจแล้ว · 11 นาที ·
จับภาพ #ไอพ่นอนุภาคพลังงานสูงจากหลุมดำได้เป็นครั้งแรก
ทีมนักดาราศาสตร์นานาชาติใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุและกล้องโทรทรรศน์รังสีอินฟราเรดติดตามศึกษาปรากฏการณ์ที่หลุมดำมวลยิ่งยวดฉีกทำลายดาวฤกษ์ที่ผ่านเข้าใกล้ รวมทั้งสามารถบันทึกภาพไอพ่นของอนุภาคพลังงานสูงที่ถูกปลดปล่อยออกมาหลังจากนั้นได้เป็นครั้งแรกด้วย
มีการตีพิมพ์รายงานการค้นพบดังกล่าวในวารสาร Science โดยระบุว่าที่ใจกลางคู่กาแล็กซี Arp 299 ซึ่งเป็นดาราจักรสองแห่งที่กำลังชนและรวมตัวเข้าด้วยกันอย่างช้า ๆ ในห้วงอวกาศห่างจากโลก 150 ล้านปีแสง มีหลุมดำมวลยิ่งยวดซึ่งมีมวลเป็น 20 ล้านเท่าของดวงอาทิตย์ กำลังฉีกทำลายและกลืนกินดาวฤกษ์ดวงหนึ่งซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ 2 เท่า
ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า Tidal Disruption Event (TDE) จะเกิดขึ้นเมื่อดาวฤกษ์โคจรเข้าใกล้บริเวณขอบฟ้าเหตุการณ์ของหลุมดำมากพอ จนแรงไทดัลมหาศาลของหลุมดำฉีกทำลายดาวฤกษ์นั้น
มวลสารของดาวฤกษ์เคราะห์ร้ายจะถูกดูดออกไปก่อตัวเป็นจานสะสมฝุ่นและก๊าซที่หมุนรอบหลุมดำ ทั้งยังมีการปลดปล่อยรังสีเอกซ์และไอพ่นของอนุภาคพลังงานสูงซึ่งมีความเร็วใกล้กับความเร็วแสงออกมาอีกด้วย ทำให้หลุมดำที่ปกติจะนิ่งเฉยและมืดสนิทมาเป็นเวลานานมีความเคลื่อนไหวปรากฎขึ้น
ที่ผ่านมามีการตรวจจับปรากฏการณ์ TDE ได้น้อยมาก และไม่สามารถใช้กล้องโทรทรรศน์บันทึกภาพได้โดยตรงเนื่องจากกลุ่มหมอกและฝุ่นละอองในดาราจักรบดบังอยู่
แต่ในครั้งนี้ นักดาราศาสตร์ใช้วิธีติดตามเก็บข้อมูลการแผ่คลื่นวิทยุและรังสีอินฟราเรดจากบริเวณแหล่งกำเนิดปรากฏการณ์ดังกล่าวติดต่อกันนานกว่าสิบปี ซึ่งในที่สุดสามารถชี้ตำแหน่งของปรากฏการณ์ TDE ในคู่ดาราจักร Arp 299 และบันทึกภาพแสงสว่างของไอพ่นอนุภาคพลังงานสูงจากหลุมดำได้เป็นครั้งแรก ด้วยกล้องโทรทรรศน์วิทยุหลายแห่งบนโลก และกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ขององค์การนาซา
การค้นพบในครั้งนี้ จะช่วยปูทางไปสู่การพัฒนาวิธีมองหาและตรวจจับปรากฏการณ์ TDE ซึ่งอาจเกิดขึ้นในจักรวาลบ่อยครั้งกว่าที่คาด ทั้งยังช่วยแยกแยะปรากฏการณ์ดังกล่าวออกจากซูเปอร์โนวาได้ง่ายขึ้น โดยก่อนหน้านี้นักดาราศาสตร์เคยเข้าใจผิดว่าปรากฏการณ์ TDE ในคู่ดาราจักร Arp 299 คือซูเปอร์โนวามาแล้ว