การที่ “อินเดีย” ค้นพบ “ลิเทียม” วัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่

ข่าวสารทั่วไป
ภาพประจำตัวสมาชิก
admin
Administrator
Administrator
โพสต์: 13796
ลงทะเบียนเมื่อ: พฤหัสฯ. 21 พ.ค. 2015 12:14 pm
กลุ่ม: ผู้ดูแลระบบ

การที่ “อินเดีย” ค้นพบ “ลิเทียม” วัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่

โพสต์โดย admin » จันทร์ 13 ก.พ. 2023 8:08 pm

Salika

การที่ “อินเดีย” ค้นพบ “ลิเทียม” วัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่และเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการชี้วัดว่าประเทศไหนจะไปได้ไกลเพียงใดในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในตลาดโลก ผลักดันให้ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก กลายเป็นประเทศที่มีแหล่งสำรองลิเทียมมากที่สุด 5 อันดับแรกของโลกในทันที
.
รัฐบาลอินเดียประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาว่า จากการสำรวจทางธรณีวิทยาของอินเดียพบลิเทียมกว่า 5.9 ล้านตัน ในจัมมูและแคชเมียร์ สองเขตการปกครองที่ปกครองโดยอินเดียในฐานะดินแดนสหภาพ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากกรุงนิวเดลีไปทางตอนเหนือราว 650 กม. ถือเป็นการค้นพบลิเทียมครั้งใหญ่ครั้งแรกในอินเดีย โดยแหล่งสำรองอื่นๆ ซึ่งมีเพียง 1,600 ตัน เท่านั้น ถูกค้นพบในรัฐกรณาฏกะ (คาร์นาตากา) เมื่อสองปีที่แล้ว ด้วยปริมาณลิเทียมที่น้อยนิด เป็นเหตุให้อินเดียต้องนำเข้าลิเธียมที่จำเป็นสำหรับภาคการผลิตจากออสเตรเลีย ชิลี และอาร์เจนตินา
.
ทั้งนี้ ลิเธียมเป็นโลหะอ่อนสีขาวเงินที่อยู่ในกลุ่มโลหะอัลคาไล เป็นโลหะที่เบาที่สุดและเป็นของแข็งที่มีความหนาแน่นน้อยที่สุด (ที่อุณหภูมิห้อง) ไวไฟสูงและทำปฏิกิริยารวดเร็ว จึงมักจะเก็บไว้ในน้ำมันแร่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกัดกร่อนและทำให้เสื่อมคุณสมบัติ
.
ประเทศต่างๆ เริ่มผลิตลิเทียมจำนวนมากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีการผลิตต่อปีเฉลี่ย 5,000 ตัน ในระหว่างปี 2498 ถึง 2523 โดยสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ผลิตลิเธียมรายใหญ่ที่สุดจนถึงปี 2538 ตามมาด้วยซิมบับเวและออสเตรเลีย ต่อมานับตั้งแต่ปี 2538 ถึง 2553 ชิลีก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ด้วยการทำเหมืองลิเทียมที่เฟื่องฟูใน Salar de Atacama ซึ่งเป็นที่ราบเกลือที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ
.
การผลิตลิเทียมเติบโตอย่างต่อเนื่องระหว่างปี 2538 ถึง 2553 โดยเพิ่มขึ้นจาก 9,500 ตันเป็น 28,000 ตัน แต่การกำเนิดของแบตเตอรี่แบบชาร์จซ้ำได้และยานยนต์ไฟฟ้าทำให้เกิดกระแสความต้องการใหม่ กระตุ้นการผลิตที่เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ เป็นเหตุให้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปริมาณสำรองลิเทียมทั่วโลกโดยรวมเพิ่มขึ้น พร้อมกับกิจกรรมการสำรวจลิเทียมที่เพิ่มขึ้น โดยในปี 2565 ปริมาณสำรองลิเทียมทั่วโลกโดยประมาณอยู่ที่ 26 ล้านตัน ซึ่งเป็นปริมาณสำรองที่มากที่สุดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
.
แม้ว่า “ชิลี” จะมีปริมาณสำรองลิเทียมมากที่สุดในโลก ด้วยปริมาณ 9.3 ล้านเมตริกตัน โดย “ออสเตรเลีย” ตามมาเป็นอันดับสอง โดยมีปริมาณสำรองลิเทียมประมาณ 6.2 ล้านตัน แต่ “ออสเตรเลีย” ก็เป็นผู้ผลิตลิเทียมรายใหญ่ที่สุดของโลก สลับกับชิลีที่กลายเป็นผู้ผลิตลิเทียมรายใหญ่อันดับสองของโลก โดยมี “จีน” รั้งอันดับสาม
.
สำหรับ “ลิเทียม” เป็นแร่วัตถุดิบที่สำคัญในภาคการผลิตไม่ว่าจะเป็นการผลิตพลังานเพื่อรองรับเทคโนโลยีต่างๆ เช่น แบตเตอรี่สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและไฮบริด ผลิตสารหล่อลื่นเครื่องยนต์ ผลิตอุปกรณ์กันความชื้น ใช้ในปลักซ์เพื่อช่วยหลอมโลหะและบัดกรี ใช้เป็นตัวเชื่อมประสานในการผลิตวัสดุเคลือบ เครื่องแก้ว กระจก และเซรามิก ตลอดจนใช้ในการผลิตชิ้นสวนอากาศยาน รวมถึงใช้ในการผลิตยารักษาโรคซึมเศร้าและไบโพลาร์
.
โดยเฉพาะท่ามกลางการแข่งขันในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของนานาประเทศ ที่พยายามช่วงชิงจุดยืนและความโดดเด่นในตลาดที่กำลังร้อนแรงสอดรับเทรนด์ความยั่งยืนของโลก การค้นพบครั้งประวัติศาสตร์นี้ที่ส่งผลโดยตรงต่ออุตสาหกรรมแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและยานยนต์ไฟฟ้า จึงพลิกชะตาให้อินเดียจากที่ต้องพึ่งพาประเทศอื่น กลับยืนผงาดเป็นดาวเด่นในฐานะหนึ่งในผู้ครอบครองลิเทียมที่มากที่สุดของโลก
.
Vivek Bharadwaj เลขาธิการกระทรวงเหมืองแร่ของอินเดียกล่าวว่า การค้นพบลิเทียมจำนวนมหาศาลนี้จะทำให้อินเดียสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น ตามนโยบายของ Narendra Modi นายกรัฐมนตรีอินเดีย และการค้นพบนี้ถือเป็นหลักชัยที่สำคัญอย่างยิ่งของอินเดียในการที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านการผลิตระดับโลก
.
จากการค้นพบลิเทียมในครั้งนี้หมายความว่าขณะนี้อินเดียมีปริมาณสำรองลิเทียมมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลกแซงหน้าสหรัฐอเมริกาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่กระนั้นการกลั่นแร่ลิเทียมให้เป็นแร่ที่สามารถใช้ผลิตแบตเตอรี่นั้นเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน ซึ่งหมายความว่าอินเดียจะต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นเวลาอย่างน้อยอีก 2-3 ปี
.
ทั้งนี้ “แบตเตอรี่” เป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดของการใช้งานปลายทางของลิเทียม จากการเติบโตของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่ลิเทียมแบบชาร์จไฟได้ โดยคาดว่าความต้องการลิเทียมทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าภายในปี 2568 และพุ่งทะลุ 2 ล้านตันภายในปี 2573
ในปี 2565 บริษัท CATL ของจีนและ LG Energy Solution ของเกาหลีใต้เป็นผู้ผลิตเซลล์แบตเตอรี่ลิเทียมชั้นนำของโลก รวมกันแล้วคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของตลาดโลกเลยทีเดียว
.
อย่างไรก็ตาม แม้ลิเทียมจะเป็นแร่เนื้อหอม แต่ปัจจุบันกลับผลิตไม่ทันกับความต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยรายงานจากสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศระบุว่าโลกอาจประสบปัญหาการขาดแคลนลิเทียมภายในปี 2568 ขณะเดียวกันยังมีอีกปัจจัยที่ต้องพิจารณาคือข้อเท็จจริงที่ว่าลิเทียมกระจุกตัวอยู่ในไม่กี่แห่ง เพราะราว 50% ปริมาณสำรองลิเทียมของโลกพบในที่ราบเกลือของชิลี อาร์เจนตินา และโบลิเวีย
.
ในขณะเดียวกัน จีนก็ควบคุม 60% ของกำลังการผลิตของโลกในแง่ของการแปรรูปลิเทียมดิบให้เป็นแบตเตอรี่ ขณะที่การครอบงำของจีนในตลาดแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนอาจสูงถึง 80%
.
ด้วยอุปทานที่จำกัดและราคาที่สูงขึ้น ทำให้ลิเทียมกลายเป็นสินค้าสำคัญในโลกปัจจุบัน ซึ่งอาจ “มีความสำคัญมากกว่าน้ำมันและก๊าซในไม่ช้า” ตามที่ Ursula Gertrud von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าว
.
ที่มา :
.
https://qz.com/india-lithium-reserves-el
.
https://www.statista.com/topics/3217/lit
.
https://www.salika.co/2023/02/11/lithium
.
Knowledge Sharing Space | www.salika.co
.
#EV #lithium #ยานยนต์ไฟฟ้า #ลิเทียม #อินเดีย #อีวี #แบตเตอรี่ #salikaco



ย้อนกลับไปยัง

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: 1 และ บุคคลทั่วไป 0 ท่าน