"นาโต้ กับข้อตกลงก่อนโซเวียตล่มสลาย"

ภาพประจำตัวสมาชิก
admin
Administrator
Administrator
โพสต์: 13569
ลงทะเบียนเมื่อ: พฤหัสฯ. 21 พ.ค. 2015 12:14 pm
กลุ่ม: ผู้ดูแลระบบ

"นาโต้ กับข้อตกลงก่อนโซเวียตล่มสลาย"

โพสต์โดย admin » พฤหัสฯ. 03 มี.ค. 2022 12:08 pm

"นาโต้ กับข้อตกลงก่อนโซเวียตล่มสลาย"
FB_IMG_1646284046851.jpg
FB_IMG_1646284046851.jpg (51.25 KiB) เปิดดู 352 ครั้ง

กษิต ภิรมย์ ได้เล่าถึงข้อตกลงระหว่างผู้นำ 2 ประเทศ ก่อนที่สหภาพโซเวียตจะล่มสลาย ไว้ว่า ย้อนไปประมาณ 30 ปี เมื่อสหภาพโซเวียต ในยุค "มิคาอิล กอร์บาชอฟ" เริ่มปรับตัวเปิดกว้าง ยอมปรับโครงสร้าง วางพื้นฐานความเป็นสังคมประชาธิปไตยในสหภาพโซเวียต แล้วก็ปลดปล่อยประเทศในอาณัติทั้งหลาย โดยเฉพาะประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ให้เป็นอิสระเสรี

แล้วก็มาถึงจุดที่กำแพงเบอร์ลินได้ถูกทุบทำลายในปี 1989 เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการรวมตัวกันระหว่างเยอรมนีตะวันออกและตะวันตก ซึ่งกอร์บาชอฟ กับ จอร์จ บุช (บุชผู้พ่อ) ได้มีการเจรจากันว่า โซเวียตจะไม่ขัดขวางการรวมประเทศเยอรมนีเป็นหนึ่งเดียว และจะไม่ขัดขวางเยอรมันในการเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ แต่มีเงื่อนไขว่า องค์การนาโต้จะต้องไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับประเทศยุโรปตะวันออก ยุโรปกลาง และต้องไม่มีประเทศสมาชิกนาโต้อยู่ติดพรมแดนของโซเวียต ซึ่งต่อมาก็คือประเทศรัสเซีย เพราะนั่นคือความมั่นคงและความอยู่รอดของรัสเซีย อันนี้เป็นสิ่งที่รัสเซียยอมไม่ได้

เพราะตัวตนจริงๆ ขององค์การนาโต้ก็คือ ทหารอเมริกัน ดังนั้นรัสเซียจึงไม่ยอมให้กองทหารอเมริกันมายืนอยู่หน้าประตูบ้านของตัวเองเป็นอันขาด

ซึ่งบุชผู้พ่อได้ให้คำมั่นสัญญาและรักษาไว้ แต่พอ "บิล คลินตัน" เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็เริ่มบิดพลิ้วสัญญา แล้วให้นาโต้รับ 3 ประเทศบอติก คือ เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย เข้าเป็นสมาชิก หลังจากนั้นความบาดหมางระหว่างรัสเซีย สหรัฐฯ และยุโรป ก็เกิดขึ้น เพราะหมดซึ่งความไว้เนื้อเชื่อใจกัน

"นาโต้ ฉวยโอกาสรับสมาชิกเพิ่ม ในช่วงที่รัสเซียอ่อนแอ"

หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย นาโต้ก็ผิดข้อตกลงที่เคยให้ไว้ ด้วยการเปิดรับประเทศที่มีพรมแดนติดกับรัสเซียเข้าเป็นสมาชิก แต่ช่วงแรกๆ รัสเซียก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะประเทศชาติกำลังอ่อนแอเป็นอย่างมาก หลังจากการล่มสลายของโซเวียต "บอริส เยลต์ซิน" ขึ้นเป็นประธานาธิบดีรัสเซีย ก็เกิดความอ่อนเปลี้ยทั้งประเทศ กลายเป็นรัฐที่ค่อนข้างล้มเหลว มีการโกงกินกันอย่างมหาศาล องค์การนาโต้ซึ่งนอกจากรับประเทศในกลุ่มบอติกที่มีพรมแดนติดรัสเซียแล้ว ก็ฉวยโอกาสรับ โปแลนด์ ฮังการี เชคโกสโลวาเกีย 3 อดีตประเทศคอมมิวนิสต์ เข้าเป็นสมาชิก ในขณะเดียวกันคู่แฝดของนาโต้ ก็คือสหภาพยุโรป ก็ขยายจำนวนสมาชิก ทำให้ฝ่ายรัสเซียรู้สึกว่าถูกคุกคาม

แต่เมื่อ "วลาดิเมียร์ ปูติน" มาเป็นผู้นำ ก็สามารถปฏิรูปประเทศ จัดบ้านเมืองให้เข้ารูปเข้ารอย ป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น แล้วก็เพิ่มรายได้ ทำให้รัสเซียเริ่มตั้งไข่ได้ มันก็เหมือนกับหมีขาวที่เจ็บป่วย หลังจากสามารถยืนหยัดขึ้นมาได้ ก็จะไม่ยอมให้ฝ่ายสหรัฐฯ กับชาติตะวันตกบีบคั้น เข้ามาประชิดชายแดนอีกต่อไป ซึ่งปูตินบอกกับสหรัฐฯ และยุโรปตะวันตกมาโดยตลอด แต่ไม่มีใครฟัง แล้วต่อมานาโต้ก็ยังไปเชิญจอร์เจียกับยูเครนให้เข้าเป็นสมาชิกอีก ทำให้ปูตินจำเป็นต้องแสดงอิทธิฤทธิ์ กรีฑาทัพเข้าไปตบหัวของจอร์เจียจนอยู่หมัด แล้วก็ได้บอกกับยูเครนว่า จะเข้าเป็นสมาชิกของนาโต้ไม่ได้ เพราะว่ายูเครนจะกลายเป็นหอกข้างแคร่ หรือมีดปลายแหลม ที่จ่อทิ่มแทงคอหอยของรัสเซีย

ก่อนหน้านี้ รัสเซียได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนกับยูเครน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป รวมถึงนาโต้ว่า อะไรคือสิ่งที่รัสเซียยอมไม่ได้ แต่ฝ่ายสหรัฐ ยุโรป ก็ยังพยายามผลักดันให้ยูเครนเข้ามาเป็นสมาชิกทั้งในองค์การนาโต้ และสหภาพยุโรป

"รัสเซียต้องตอบโต้ยูเครน เพื่อความอยู่รอดของประเทศ"

รัสเซียมีความจำเป็นที่ต้องแสดงท่าทีแข็งกร้าวและตอบโต้อย่างรุนแรงในกรณีของยูเครน เพราะหากปล่อยให้ประเทศที่อยู่ติดพรมแดน ได้เข้าเป็นสมาชิกนาโต้อีก ก็ไม่ต่างอะไรกับการปล่อยให้ทหารอเมริกันมายืนอยู่หน้าประตูบ้าน

สุดท้าย กษิต ภิรมย์ ได้ย้ำและสรุปว่า ความขัดแย้งในวันนี้ ระหว่างรัสเซียกับยูเครน เป็นผลสืบเนื่องมาจากการไม่รักษาสัญญาที่สหรัฐฯ เคยให้ไว้ในอดีต และความขัดแย้งนี้จะคงดำรงอยู่ต่อไป ตราบใดที่นาโต้ยังคงถูกใช้เป็นเครื่องมือของทหารของสหรัฐฯ และโลกตะวันตก
..................................

ผมคิดว่าคนที่มีใจที่เป็นธรรมที่ได้อ่านบทความนี้ คงเข้าใจรัสเวียมากขึ้น และเข้าใจว่าใครคือผู้ร้ายตัวจริง ผมไม่เห็นด้วยกับการทำสงคราม แต่ปัญหาต้องดูที่ต้นเหตุ ไม่ใช่มามองเอาที่ปลายเหตุแล้วตัดสินว่าใครผิดถูก ถ้าจะประนามรัสเซียที่ก่อสงคราม ก็ต้องประนามสหรัฐที่เป็นต้นเหตุด้วย เพราะไปทำผิดสัญญา และเป็นตัวจุดชนวนของสงครามครั้งนี้

"กษิต ภิรมย์ เปิดปมแค้น 30 ปี นาโต้ VS รัสเซีย ก่อนระเบิดในสมรภูมิยูเครน"
https://www.springnews.co.th/feature/821250



ย้อนกลับไปยัง

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: 1 และ บุคคลทั่วไป 0 ท่าน

cron