· เมื่อวานนี้ ·
“ยามใดที่เราได้พูดคุยกับคนที่เราแคร์ จะเจอหน้ากันหรือจะคุยโทรศัพท์ก็ได้ สมองเราจะหลั่งสารออกซิโตซิน (oxytocin) ออกมา” ดร. ลีลา ลานดอฟสกี นักประสาทวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแทสมาเนีย กล่าว
.
สมองต้องการออกซิเจน หัวใจต้องการออกซิโตซิน
มันคือฮอร์โมนแห่ง ‘สายใย’…มันนี่เอง ที่ทำให้มนุษย์เกิดความรู้สึก ชิดเชื้อ รักใคร่ ผูกพัน
และใช่แค่เอาไว้ ‘ถักทอเชื่อมร้อย’ดวงใจของคนเข้าด้วยกัน มันยังทำหน้าที่ให้เรารู้สึกสดชื่นขึ้น เพราะมันจะไปลดระดับพวกฮอร์โมนความเครียด อย่างคอร์ติซอล (cortisol)
.
ความรู้สึกเช่นนี้ น่าจะใกล้เคียงกับ ‘สิ่งที่เรียกว่าความรัก’…ถ้าหากความรักเผอิญมีอยู่จริง
.
เหลือเชื่อ ออกซิโตซิน เกิดได้จากการพูดคุยต่อหน้าต่อตา หรือต่อหูต่อสายผ่านเสียงโทรศัพท์ แต่มิใช่ต่อจอต่อแป้นในสกรีนมือถือ
ดร. ลีลา แจกแจงว่ามันไม่เกิดขึ้นใน ‘ตัวอักษร’…จะไลน์ เฟซบุ๊ค อีเมล์ หรือเอสเอ็มเอส
“ยกหู ไม่ใช่จิ้มจอ” ความสุขถึงจะบังเกิด
.
โซเชียลมีเดียเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารของมวลมนุษยชาติโดยสิ้นเชิง
พบว่าคนที่เกิดหลังปี 1988 ไม่คุ้นชินกับการคุยโทรศัพท์อีกต่อไป ถือว่ามันเป็นการ ‘รุกล้ำความเป็นส่วนตัว’
หรือนี่อาจเป็นเหตุผลที่คนรุ่นใหม่เหมือนไม่มีความสุข…
.
เดอะ การ์เดียน เขียนไว้ชวนฉุกใจว่า
อาจเป็นเพราะเราอยู่ในโลกที่วิ่งวุ่นยุ่งเหยิงตลอดเวลา ดั้งนั้น ถ้าใครสักคนสละ ‘เวลา’ สักนิดโทรหาเรา แล้วคุยสัพเพเหระเรื่อยเปื่อยอย่างกับตอนสมัยมัธยม มันเสมือนเป็นการส่งสารบอก‘ความใน’ ตรงสู่ใจเราว่า
“เรามี ‘เวลา’ ให้เธอนะ เธอสำคัญสำหรับเรา”
.
จริงหรือไม่ก็ไม่รู้…ก็แค่งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์
แต่จะสนทำไมว่าจริงไม่จริง
คุณไม่ได้โทรคุยกับคนที่คุณแคร์นานแค่ไหนแล้วนะ ลองเพิ่มออกซิโตซินให้กันและกันหน่อยไหม?
ที่มา: Guardian
https://www.theguardian.com/commentisfr ... -heres-why