นับถึงวันนี้ ต้องยกตำแหน่งดาวที่ลึกลับที่สุดในจักรวาลให้แก่ดาวฤกษ์ KIC 8462852 ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ของเรา 1.5 เท่า อยู่ห่างจากระบบสุริยะของเราออกไปราวๆ 1,200 ปีแสงในทิศทางของกลุ่มดาวซิกนัส
เนื่องเพราะหลังจากมีการประกาศการค้นพบในปี 2015 ว่ามีอะไรที่ไม่กลมและใหญ่โตมโหฬารโคจรรอบดวงดาวนั้น แนวคิดต่างๆก็หลั่งไหลมาเพื่ออธิบายสิ่งที่แปลกประหลาดนี้ บ้างก็ว่าเป็นดาวหาง บ้างก็ว่าเป็นกลุ่มฝุ่น บ้างว่าดาวเคราะห์ที่มีวงแหวน หรือมีหลายอย่างรวมกัน หลายแนวคิดมุ่งไปว่ามีโครงสร้างขนาดยักษ์ของอารยธรรมอื่นโคจรอยู่ และสิ่งนี้แหละที่บังแสงของดาวให้หรี่ลงในรูปแบบแปลกๆ ร้อนถึงสถาบันเซติ ยังต้องหันกล้องโทรทรรศน์ไปหาความจริงข้อนี้
หนึ่งในตัวตั้งตัวตีกัดไม่ปล่อยในการความหาปริศนาของดาวฤกษ์ KIC 8462852 คือ ดร.ทาเบธา โบยาเจียน นักดาราศาสตร์สาวชาวอเมริกัน ผู้มีชื่อเล่นว่า แท็บบี้ และทีมงานของเธอ จนชื่อของนักวิชาการสาวรายนี้ กลายไปเป็นชื่อของดาวดวงนี้เรียบร้อย นั่นคือดาวแท็บบี้ หรืออีกหลายคนก็เรียกดาวดวงนี้ว่า ดาวโบยาเจียน ฟังดูจำง่ายกว่าตัวเลข KIC 8462852 เยอะเลย
หลังจากเฝ้าติดตามแบบมุ่งมั่นมาหลายปี ล่าสุด ดร.แท็บบี้ ก็ได้ตีพิมพ์ผลการค้นพบล่าสุด ซึ่งมีใจความหักล้างความเชื่อของกลุ่มที่เข้าข้างเอเลี่ยนไม่มากก็น้อย นั่นคือการหรี่ลงของแสงที่ส่องมาจาก ดาวฤกษ์ KIC 8462852 แบบที่มีจังหวะประหลาดไม่แน่นอนนั้น มันไม่ได้หรี่ลงในทุกช่วงความถี่ของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า นั่นหมายความว่า “อะไรก็ตาม” ที่กำลังโคจรอยู่รอบดาวฤกษ์ KIC 8462852 เป็นวัตถุที่ “ไม่ทึบแสง” ไม่น่าจะเป็นโครงสร้างขนาดยักษ์ที่หากเป็นจริงมันจะต้องบังแสงทุกช่วงคลื่นไม่ใช่บังเป็นบางช่วงคลื่น พฤติกรรมการบังแสงแบบไม่ครบทุกช่วงคลื่นนี้ คล้ายกับกลุ่มฝุ่นมากกว่าที่องค์ประกอบอันแตกต่างกันของวัตถุขนาดเล็กที่ประกอบกันเป็นกลุ่มฝุ่นนั้นจะดูดกลืนแสงแต่ละช่วงคลื่นแตกต่างกันไปทำให้เกิดลักษณะที่แสงถูกบังเพียงบางช่วงคลื่น
อาจถือเป็นการเฉลยปริศนาของดาวลึกลับนี้เลยก็ได้ หรืออาจมีประเด็นหักล้างตามหลังมาอีก ก็ต้องคอยติดตามตอนต่อไป
เรียบเรียงโดย @MrVop