1. โลกเข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการหรือยุคชะงักงันทางฆราวาส
ในวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายPhilipp Michael Hildebrandเป็นแขกพิเศษของธนาคารแห่งประเทศไทย เขาได้รับเชิญมาเป็นวิทยากรประจำปี เพื่อพูดให้ฝ่ายบริหารของแบงค์ชาติและบุคคลที่อยู่ในแวดวงแบงค์และตลาดการเงินได้รับรู้ถึงแนวคิดของเขาเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในฐานะที่เขาเป็นถึงรองประธานของBlackRock บริษัทจัดการกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยขนาดพอร์ต$4.8ล้านล้าน และเป็นอดีตผู้ว่าการธนาคารกลางสวิส
ค่อนข้างจะชัดเจนว่านายHildebrandอยู่ค่ายของคนที่มองโลกในแง่ดี โดยโปรยนำว่า เศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวในประเทศที่เป็นเศรษฐกิจหลักของโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ญี่ปุ่น เยอรมันนี โดยเงินเฟ้อหยุดที่จะชะลอตัวลง และการจ้างงานมีแนวโน้มดีขึ้น ค่าแรงงานที่แท้จริงมีการขยับขึ้น ส่วนตลาดเกิดใหม่เจอภาวะการชลอตัวของเศรษฐกิจ แต่ยังไปดีกว่าประเทศอื่นๆ รวมทั้งจีน ซึ่งถึงแม้ว่ากำลังมีปัญหาฟองสบู่ตลาดหุ้นแตก และทางการพยายามที่จะประคองสถานการณ์ให้ดีที่สุด แต่ก็จะยังสามารถที่จะดันให้จีดีพีโตได้อย่างน้อย6%ในปีนี้
แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น Hildebrandกล่าวว่า ความไม่แน่นอนในอนาคตยังคงมีอยู่สูง เพราะว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเวลานี้จะถือว่าเป็นการฟื้นตัวทางวงจร (cyclical rebound) หรือว่าเป็นการฟื้นตัวจากการปรับโครงสร้าง (structural growth recovery) ถ้าเป็นอย่างแรก การฟื้นตัวจะไม่คงทนถาวร แต่ถ้าเป็นอย่างหลังจะช่วยให้เศรษฐกิจโลกมีการปรับตัวให้เข้าสุ่หนทางของการเจริญเติบโตที่ยั่งยืน
แล้วปัจจัยของความเสี่ยง หรือความไม่แน่นอนมีอะไรบ้าง? นายHildebrandอธิบายว่า ความไม่แน่นอนที่อาจจะมีผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก คือ
1. ความพยายามที่จะลดหนี้ (deleveraging)ของทั้งภาครัฐและเอกชน หลังจากก่อหนี้กันมาหลายปีจากสภาพแวดล้อมดอกเบี้ยที่ถูก ต่อไปดอกเบี้ยมีแนวโน้มสูงขึ้น จำต้องลดหนี้กันถ้วน หน้าซึ่งจะมีผลต่อการเจริญเติบโต
2. การแทรกแซงตลาดการเงินเป็นเวลานานของธนาคารกลางหลักของโลกเป็นเวลานาน ตั้งแต่หลังวิกฤติการเงินปี2008 ทำให้เบี่ยงเบนราคาทรัพย์สินจากความเป็นจริง เขาใช้คำว่าdistort asset prices ต่อไปธนาคารกลางจำต้องปล่อยทรัพย์สินที่ซื้อเข้ามาในงบดุล ออกไปสู่ตลาด ผลกระทบต่อการการเงินหรือเศรษฐกิจโดยรวมจะเป็นเช่นใด
3. ตลาดอ่อนไหวง่ายต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายของทางการ ไม่ว่าการที่ธนาคารกลางสวิสจะเลิกผูกค่าเงินสวิสฟรังค์กับยูโร อดีตประธานเฟด เบน เบอร์แนงกี้รีบร้อนบอกว่าจะเลิกสนับสนุนการซื้อทรัพย์สินเข้างบดุลเฟดในปี2013 และทางการจีนจะต้องปล่อยทรัพย์สินที่เข้าไปแทรกแซงในตลาดหุ้นและตลาดการเงินกลับออกมาในอนาคต
4. การเปลี่ยนแปลงทางกำกับและตรวจสอบแบงค์และสถาบันการเงิน ที่จะทำให้ภูมิทัศน์ของโลกการเงินเปลียนไป
5. และประการสุดท้าย การปฏิวัติของไอทีที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปในทางที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าข้อเสียคือการจ้างงานจะลดลง และจะก่อให้เกิดปัญหาทางสังคม
thanong
21/7/2015
source
https://www.facebook.com/ThanongFanclub ... 39/?type=1