นิทานเรื่องจริง เรื่อง " ตัดโซ่ หรือ ตายซาก"
ตอน 1
เรื่องหนี้ของกรีซยก 2 นี่ ถ้าเป็นหนังก็ออกรสตื่นเต้น ประเภท เกทับบลั้ฟแหลก คมเฉือนคม อะไรทำนองนั้น เพราะมันจะมีการพลิกเกมกันอยู่ตลอดเวลา ต่างฝ่ายก็เอามือล้วงกระเป๋า เหมือนมีของดีแอบอยู่ จะงัดเอาออกมาใช้เมื่อไหร่เท่านั้น แต่จริงๆแล้ว ของดีมีจริง หรือมีปลอม ยังไม่มีใครรู้แน่ ระหว่างนั้น ก็ทำหน้าขรึม หน้าเครียดเจรจากัน สื่อก็รายงานของจริงแถมใบสั่ง เป็นโอกาสล่อให้แมงเม่าเข้าไปเล่นกองไฟ มีคนฉิบหายตายเพราะหนี้ท่วมประเทศยังไม่พอ ต้องหาแมงเม่าเข้ามาสังเวยด้วย มันถึงจะได้อารมณ์ สร้างกำไร จากความหายนะ ความคิดแบบนี้ มีทุกสัญชาติแหละครับ มากน้อย ตามสันดาน และตัณหา
พระเอกที่จะเล่นเกมเกทับ ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นรัฐบาลชุดปัจจุบันนี้ของกรีซ ที่มาจากพรรค Syriza ซึ่งเป็นพวกที่เอนไปทางสังคมนิยม ก่อต้ังเมื่อปี ค.ศ. 2004 จากการรวมตัวของกลุ่มฝ่ายซ้ายต่างๆ ประมาณ 10 กว่ากลุ่ม Syriza เคยมีชื่อเสียงว่า เป็นพวก anti establishment เป็นพวกไม่เอาทุนนิยมว่างั้นเถอะ แม้ตอนหลังพวกเขาจะไม่เน้นเรื่องนี้ แต่เมื่อ Syriza ชนะเลือกตั้ง เมื่อต้นปี 2015 แน่นอน ทำให้อียูเริ่มขมวดคิ้ว เพราะดูเหมือน Syriza จะมาทำให้ชาวกรีซร้องคนเพลงกับอียู ยิ่งหัวหน้าพรรคที่ชื่อ Alexis Tsipras ประกาศชัดเจนว่า "euro is not my fetish" เงินยูโรมันก็ไม่ได้วิเศษอะไรนักหนา คำประกาศเขาให้รสชาดแบบนั้นนะครับ
ในการเลือกต้ังดังกล่าว Syriza ขาดไปแค่ 2 คะแนน ที่จะเป็นเสียงข้างมาก พวกเขาเลยต้องผสมกับพรรคอื่นตั้งรัฐบาล แต่ยังไงก็ได้นาย Alexis Tsipras เป็นนายกรัฐมนตรีหนุ่มแน่น อายุแค่ 40 และมีนาย Yanis Varoufakis เป็นรัฐมนตรีคลัง ที่จะมาช่วยหาวิธีถอดโซ่ ที่พวกเจ้าหนี้กรีซ เอามาคล้องคอชาวกรีซออกไป หรือทำให้โซ่คล้องคอมันหลวมหน่อย ไม่ใช่รัดติ้ว ท้องกิ่ว หายใจจะไม่ออก ไม่มีจะกินกันทั้งประเทศอย่างนี้
นาย Alexis Tsipras เป็นลูกชาวกรีซ ที่อพยพมาจากตุรกี ตามโครงการแลกเปลี่ยนประชาชน ระหว่าง 2 ประเทศ เขาเป็นคนชอบเล่นกีฬา และทำกิจกรรมมาต้ังแต่เป็นเด็กนักเรียน หลังจากนั้นก็เริ่มเป็นนักเคลื่อนไหวไฟแรง แหม เหมือนกับจะเขียนเรื่องเจ้ายะใส หนุ่มหน้ามนของสาวๆแดนสยามเลยนะ แต่ยะใส คงต้องติวใหม่อีกแยะนะ เอาเรื่องนายอเล็กซิส ต่อแล้วกัน เขาเรียนจบด้านวิศวกรรมจากวิทยาลัยเทคนิคของกรีซ ระหว่างเรียน ก็เริ่มเข้ากลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายของกรีซ และได้เป็นหัวหน้านักศึกษาทางกิจกรรมการเมือง ก็คงเหมือน สนนท. ของบ้านเรานะครับ หลังจากนั้น ก็เข้าการเมืองท้องถิ่นเต็มตัว ก่อนลงสนามใหญ่
เมื่อบรรดาพรรคฝ่ายซ้าย จับมือรวมกันเป็นพรรค Syriza นายอเล็กซิส ก็ไปเข้าร่วม แล้วในที่สุด ในปี คศ 2009 หนุ่มอเล็กซิส อายุ 30 กว่า ก็ได้เป็นหัวหน้าพรรค Syriza เป็นดาวรุ่งพุ่งแรง จะมีใครอุ้ม ใครดันหรือเปล่า ข่าวไม่บอก แล้วเขาก็พา Syriza เข้าลงเลือกต้ังในสนามใหญ่ ต้ังแต่ปี 2012 แม้ไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่ก็ได้เข้าอยู่ในสภา ในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายค้าน ไม่เบาเหมือนกันสำหรับ หนุ่มวัย 30 กว่า
เมื่อ สภากรีซล่มในปี ค.ศ. 2014 และประกาศจะมีการเลือกต้ังใหม่ ในเดือนมกราคม ปี ค.ศ.2015 อเล็กซิส ระดมพลพรรค ประกาศลงเลือกต้ัง และประกาศ Thessaloniki Programme ในเดือนสิงหาคม ปี 2014 ซึ่งเป็นนโยบายที่เสนอให้มีการปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และการเมืองของกรีซเสียใหม่ นอกจากนี้ ยังประกาศใช้นโยบายการหาเสียงว่า พรรค Syriza ต้ังใจจะเข้าไปแก้ไขเงื่อนไขมหาโหด ในสัญญาเงินกู้ ที่บรรดาเจ้าหนี้ต่างประเทศกำหนดไว้ เหมือนเอาโซ่มาคล้องคอชาวกรีซและทำให้ชีวิตชาวกรีซสุดแสนจะลำเค็ญ
ในส่วนนโยบายต่างประเทศ ระหว่างการหาเสียง อเล็กซิส แสดงความไม่พอใจอย่างเผ็ดร้อน กับการตัดสินใจหลายเรื่องของยุโรป ที่คัดท้ายโดยรัฐบาลเยอรมัน ภายใต้การนำของป้าเข็มขัดเหล็ก แน่นอน มันเป็นการฝาก "รอย" ให้ไว้กับป้าเข็มขัดเหล็ก ที่ทำให้การเจรจาต่อมาระหว่างอเล็กซิส ในฐานะนายกรัฐมนตรีกรีซ กับป้าเข็มขัดเหล็ก เกี่ยวกับเรื่องหนี้ของกรีซ ฝืดสิ้นดี
เหมือนจะให้ผู้คนแน่ใจว่าเขาคิดอย่างไร เมื่อได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี งานแรกที่ Alexis Tsipras ทำ คือ เขานำดอกกุหลาบแดงช่อใหญ่ ไปวางแสดงความเคารพที่อนุสรณ์สถานของชาวกรีซ 200 คน ที่เสียชีวิตจากการฆ่าของเยอรมัน เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.1944 ....ช่างเล่นนะไอ้หนุ่ม
งานเดินสายต่างประเทศ รายการแรกของนายกรัฐมนตรีหนุ่มคือ ไปพบนายกรัฐมนตรี Matteo Renzi ที่โรม เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2015 จับเข่าคุยในฐานะ คนเป็นลูกหนี้ ที่มีโซ่คล้องคอเหมือนกัน คุยกันเสร็จ นาย Renzi ก็มอบเนคไทไหมอิตาเลียน ให้เป็นที่ระลึกแก่ นายอเล็กซิส ซึ่งมีชื่อเสียงว่า ไม่นิยมการผูกเนคไท เขารับไว้ แล้วบอกว่า เขาจะผูกเนคไทนี้ ในวันที่ชาวกรีซ ตัดโซ่คล้องคอสำเร็จ... อยากได้ยินคำพูดแบบนี้ ในแดนสยามบ้างครับ
ส่วน นาย Yanis Varoufakis มาคนละทางกับอเล็กซิส
ยานิส ไม่ได้เป็นนักการเมือง เขาออกไปทางนักวิชาการ เป็นนักเศรษฐศาสตร์ และเป็นอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์มีชื่อเสียง แต่ใช่ว่าเขาไม่สนใจการเมือง พ่อเขาร่วมรบในสงครามกลางเมืองกรีซ โดยอยู่ฝั่งคอมมิวนิสต์ แพ้สงครามก็ถูกจับไปนอนคุกอยู่หลายปี ออกจากคุกมาทำธุรกิจ กลายเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ที่สุดของกรีซ ส่วนแม่ก็เป็นพวกคอการเมือง ครอบครัวนี้ สนับสนุนกลุ่มไอร์แลนด์เหนือให้สู้กับอังกฤษ พวกเขานับ Belfast เมืองหลวงของไอร์แลนด์เหนือเป็นบ้านที่ 2
สำหรับคนรุ่นหลังๆ คงไม่ค่อยรู้จักวีรกรรมของชาวไอริช ที่ต้องการแยกตัวจากอังกฤษ นอกจากรู้จากดูหนัง จริงๆ คนไอริช หรือขบวนการ IRA เป็นขบวนการ ที่ถูกอังกฤษและพวก รวมทั้งสื่อ เรียกว่า เป็นผู้ก่อการร้าย ทั้งๆ ที่พวกเขาคิดการดี ในช่วงประมาณปี ค.ศ.1970 เป็นต้นมา ขบวนการ IRA จะเป็นข่าวเกือบรายวัน ในการวางระเบิดใส่อังกฤษ ผู้คนบาดเจ็บล้มตายมาก ตึกรามบ้านช่องพังวินาศ
ไม่มีการต่อสู้เพื่อเอกราชใด หรือปลดพันธนาการใดจะได้มาง่ายๆ มันต้องลงแรงลงใจลงชีวิตทั้งนั้น ชาวแดนสยาม สบายจนเคยตัว บางพวกทำตัว ยิ่งกว่าตามสบาย เห็นแต่ประโยชน์ส่วนตัว หาความสุข สนุกไปวันๆ ไม่สนใจประเทศ และเพื่อนร่วมชาติ จนน่ารังเกียจ น่าเสียดายครับ มีของดี ไม่รู้จักคุณค่า ไม่รู้จักรักษา ชอบอยู่แต่ใน "ครอบ" ไม่อยากใช้คำว่า "คอก" ปล่อยให้มัน ฟอกย้อม ต้มตุ๋นเอาจนชิน วันไหนไม่ถูกย้อม ไม่ถูกต้ม คงกินไม่ได้นอนไม่หลับ เฮ้อ! คุยเรื่อง นายยานิสต่อดีกว่า
เมื่อพ่อรวย ก็ส่งลูกไปเรียนที่อังกฤษ ยานิส จึงเรียน พูด และด่าเป็นภาษาอังกฤษ ได้ชัด และคมคายเอาเรื่อง สรุปว่า เขาเรียนต้ังแต่ ปริญญาตรี จนจบปริญญาเอกจากอังกฤษแล้วกัน
เรียนจบแล้ว ก็ไปสอนหนังสือ ที่หลายมหาวิทยาลัย หลายประเทศ แล้วยังเดินทางไปดูโลกกว้างในแง่มุมของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากสร้างให้เกิด ที่ต้องมองกันอย่างลึกซึ้ง กลับมาก็เปิดบล๊อกของตัวเอง ให้ความรู้ ความเห็น สอนคนนอกมหาวิทยาลัยไปเรื่อยๆ ที่สำคัญ เขาบอกว่า เขาไม่เห็นด้วยกับการที่กรีซ ไปกู้เงินพวกเจ้าหนี้หน้าเลือดเหล่านั้น ไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขที่เจ้าหนี้ต้ัง ไม่เห็นด้วยๆๆๆ สาระพัด ไม่เห็นด้วย และบอกว่า ถ้ากรีซ ปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไป ชาวกรีก ก็คงแห้งตายซาก และเกาะกรีซอันสวยงาม ก็คงล่มจมหายไปในเมดิเตอร์เรเนียน อย่างน่าเสียดาย ...
เพราะเขียนในบล๊อกแบบนี้ จนดังระเบิด เมื่อ พรรค Syriza ได้เป็นรัฐบาล จึงส่งเทียบมาเชิญ ท่านพี่ยานิส ท่านอย่ามัวแต่นั่งเขียนให้คนอ่านเลย แบบนั้นมันง่าย ( เหมือนที่ลุงนิทานทำ แค่นั่งเขียนอยู่ในบ้าน) ท่านจงออกมาใช้ภูมิปัญญา ลงมือแก้ไขปัญหาบ้านเมืองอย่างจริงจังกับเราเถิด นายยานิส ก็ไม่เล่นตัว ไม่เรื่องมาก แค่บอกว่า พูดกันให้รู้เรื่องก่อนนะ ถ้าเอาผมไปนั่งคลัง ผมจะใช้นโยบาย อย่างที่ผมเขียน คือ เราต้องตัดโซ่ของเจ้าหนี้ ที่เอามาคล้องคอชาวกรีซ ออกเสียนะ
นายกรัฐมนตรีหนุ่มบอก นั่นแหล่ะพี่ เราพูดเรื่องเดียวกัน พี่เอาคีมเบอร์ใหญ่สุดมาเลยนะ มาช่วยพวกผมตัดโซ่ด่วนเลย แล้วยานิสก็ไปนั่งเป็นรัฐมนตรีคลังในรัฐบาล แต่ไม่สังกัดพรรค อืม...
เป็นต้ัง พณฯ ท่านรัฐมนตรี เขาก็ส่งทั้งรถยนต์ คนขับ ผู้ติดตาม เครื่องยศ มาให้พร้อม ยานิส ก็ส่งคืนกลับไปหมด รถยนต์ ผมมีแล้วครับ เก่าหน่อย แต่ยังวิ่งได้ดีอยู่ วันไหนอากาศดี ผมก็ไม่ใช้รถ ขี่มอร์ไซด์ไปเร็ว และประหยัดกว่า มิน่า เลยติดใส่เสื้อหนัง ส่วนผู้ติดตาม ก็ไม่จำเป็นครับ ไม่รู้จะเอามาทำอะไร ถ้าประชาชนเขาไม่พอใจผม เอาไข่ปาผมไม่กี่ที ผมก็รู้หน้าที่ว่า ควรลาออกแล้วครับ ประเทศเราจนมากนะครับ ยังมีหนี้อีกแยะ จะใช้อะไร จะทำอะไร ก็ต้องเอาแต่จำเป็น รู้จักประหยัดบ้าง รับรอง ลุงนิทานไม่ได้เขียนเอง แดกใคร คุณน้องยานิส ให้สัมภาษณ์อย่างนี้จริงๆ
###############
"ตัดโซ่ หรือ ตายซาก"
ตอน 2
ก่อนจะเดินหน้าไปตัดโซ่ มาทบทวนกันหน่อยว่า หนี้กรีซ นี่มันอะไรนักหนา แล้วเงื่อนไขเจ้าหนี้มันทารุณเหมือนเอาโซ่มาคล้องคอชาวกรีกจริงหรือเปล่า หรือพวกหนุ่มๆ เขาเลือดร้อน ฮอร์โมนพุ่งตามวัย เห็นอะไรขัดใจนิด ขัดใจหน่อย ก็คิดชนมันซะเลย
บรรดาขาใหญ่นักวิเคราะห์การเมือง ไม่ใช่ พวกนักวิเคราะห์การเงิน ที่เอาไว้หลอกพวกแมงเม่า บอกว่า มันไม่ใช่เป็นเรื่องว่า กรีซ ประเทศเล็กๆ ที่อยู่ในสหภาพยุโรป จะผิดนัดชำระหนี้ไหม และจะพากันจูงมือ เดินออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หรืออียู หรือเปล่า แต่เรื่องหนี้กรีซ อาจกลายเป็นซึนามิ ทางการเงิน เศรษฐกิจ และการเมืองของยุโรปได้อย่างนึกไม่ถึง และถ้าเข้าทาง ...มันอาจจะไปไกลกว่านั้น....
ปัญหาหนี้ของกรีซ เริ่มมาต้ังแต่ปี ค.ศ.2001 ก็ต้ังแต่ กรีซ เริ่มเปลี่ยนมาใช้เงินสกุลยูโร แทนเงินสกุลดรักมาร์ของตัวเองนั่นแหละ กรีซเป็นสมาชิกอียูโซนมาต้ังแต่ปี ค.ศ.1981 แต่กรีซมีงบประมาณขาดดุลยสูงเกินเกณท์ของอียู ที่เรียกว่า Maastricht Criteria อยู่ตลอดมา ถึงจะเกินเกณท์ แต่ ปีแรกๆ ก็ไม่มีปัญหา เพราะดูเหมือนหลายประเทศในอียู ก็เกินกันทั้งนั้น และกรีซ ก็ได้ประโยชน์จากการกู้ดอกถูก ในฐานะเป็นสมาชิกอียู และมีเงินลงทุนเข้ามาเพิ่ม
นี่คือ ความผิดพลาดของกรีซ รายการแรก ที่มองการเข้าไปอยู่ในคอกอียู แต่ด้านบวก ด้านได้ โดยไม่มองด้านลบ หรือไม่คิดว่ามีด้านลบ
ถึง ปี ค.ศ.2004 กรีซ หลุดปากบอกว่า ตัวเองแต่งตัวเลข เพื่อไม่ให้ผิดหลักเกณฑ์อียู แต่น่าประหลาด อียูทำเหมือนไม่ได้ยิน เกิดหูบอดกระทันหันเสียอย่างนั้น ไม่เตือน ไม่ด่า ไม่ทำโทษกรีซ เพราะอะไรหรือ เพราะ ใครๆก็ทำกัน โดยเฉพาะ ฝรั่งเศส และเยอรมัน ลูกพี่ใหญ่ของอียู ด่ากรีซ ก็เหมือนด่าตัวเองด้วย แล้วถ้าจะทำโทษ จะทำอะไรล่ะ ยังไม่มีกฏกติกา เรื่องนี้เลย ไล่กรีซออกจากอียูเลยดีไหม อียูน่าจะทำได้ แต่มันจะทำให้ภาพพจน์อียู หมดท่า เหมือนแก้ผ้าประจานตัวเอง แถมตอนนั้น สมาชิกอียูยังน้อยอยู่ อยากได้ไอ้พวกพี่เบิ้ม อย่างอังกฤษ ก็ยังยักท่า หรือ รวยๆ อย่างสวีเดน เดนมาร์ก ตอนนั้น ก็ยังทำหยิ่งไม่เข้ามา นี่ถ้ารู้ว่า กรีซ แต่งตัวเลข ใครจะมา มีแต่จะไป แล้วทุกฝ่ายก็ปิดปากเงียบ หลอกตัวเอง หลอกกันเอง และหลอกคนอื่นต่อไป นี่คือความผิดส่วนของอียู ที่ไม่ได้มีเพียงครั้งเดียว
แต่พอถึงปี ค.ศ.2009 ฝีแตก กรีซปิดต่อไปอีกไม่ไหว เพราะเงินทำท่าจะหมดประเทศ จริงๆ ก็หมดแล้ว มีแต่เงินกู้เขามา อ้อมแอ้ม ออกมาว่า มีตัวเลขงบประมาณขาดดุลย ประมาณ 12.9 % ของ จีดีพี ( ผลิตภัณท์มวลรวมภายใน ) ซึ่งเป็นตัวเลขที่เกินกว่าเกณท์ที่ อียู กำหนดไว้ ที่ 3% พูดภาษาเข้าใจง่ายๆ แปลว่า มีจ่ายจ่ายมากกว่ารายรับอยู่แยะมาก จะทำไงดีครับลูกพี่ เป็นคนธรรมดา ก็ต้องบอกว่าอยู่ในสภาพ เป็นหนี้หัวโต นอนเอามือก่ายหน้าผากจนบุบ ก็ยังไม่เห็นทางแก้ปัญหา
ลูกพี่ยังคิดไม่ออกว่าจะใช้แผนพิฆาตชุดไหน แต่ สามหมาไน บริษัท จัดอันดับ ratings agency Standard & Poor , Fitch และ Moody's ได้กลิ่น รีบประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของ กรีซลงอย่างรวดเร็ว เหลือเป็นระดับ junk bond หรือระดับขยะ คือ อยู่ในสภาพล้มละลาย พันธบัตรกรีซ มีค่าไม่ต่างกับกระดาษชำระ การประกาศของ 3 หมาไน ได้ผลอย่างดียิ่ง กลางปี 2010 กรีซก็ถูกตัดขาดจากเส้นทางกู้เงินในตลาดทุนของโลก เหลือแต่เส้นทางไปสู่การเป็นประเทศล้มละลายอย่างสมบูรณ์
กรีซแทบไม่เหลือทางเลือก จะตายช้า หรือตายเร็วเท่านั้น แล้วอัศวิน ชื่อ Troika ก็โผล่มา Troika เป็นชื่อเรียก ของสามเสือหิว IMF, ECB (European Central Bank) และ European Commission เล่นบทลูกพี่ใจดี จับมือกันจัดการให้เงินกู้ ที่อ้างว่า เป็นการช่วยฉุดกรีซขึ้นมาจากเหว รอบแรก จำนวน 340 พันล้านยูโร
เงินจำนวนนี้ ถือว่ามากมาย และน่าจะผิดหลักเกณท์ของ IMF เสียด้วยซ้ำ แต่ทำไมอัศวิน หรือ Trioka รีบจัดการให้ สงสารกรีซมากหรือไง อ้อ ไม่ใช่ มันเป็นพวกไอ้เสือหิว มองหาเหยื่อแบบนี้ มานานแล้วต่างหาก พอเข้าใจนะครับ
เงินกู้ ฉุดจากเหว มาพร้อมกับโซ่เหล็กคล้องคอกรีซ เป็นเงื่อนไขที่อ้างว่า เพื่อสร้างวินัยในการใช้จ่ายของกรีซ ที่กรีซ ไม่มีโอกาสต่อรอง ต้องก้มหน้ารับอย่างเดียว แต่ที่น่าสนใจ เงินกู้แลกโซ่ ควรจะมาช่วยให้สถานะของกรีซในสายตาของตลาดทุนดีขึ้น ตรงกันข้าม เงินกู้ลอยผ่านหน้ารัฐบาลกรีซ ไปเข้ากระเป๋าธนาคารต่างประเทศ ที่ให้กรีซกู้ไปก่อนหน้านี้
เงินกู้ฉุดจากเหว กลายเป็นการใช้หนี้ ฉุดธนาคารต่างประเทศ ขึ้นมาจากเหวก่อน ชาวกรีซยังคงอยู่ในเหวต่อไป แต่มีโซ่มาคล้องคอหนักรัดติ้ว นั่งท้องกิ่วอยู่ก้นเหว ตกลงอัศวิน Troika มาช่วยใคร นี่คือ การเสียค่าโง่ครั้งที่เท่าไหร่ของกรีซ
แล้วธนาคารต่างประเทศไหนล่ะ ที่ได้รับการชำระหนี้ไปก่อน เปิดดูอากู ก็รู้ว่า ธนาคารในอียูเองเป็นเจ้าหนี้กรีซ ทั้งนั้น และเจ้าหนี้รายใหญ่สุด คือ เยอรมัน รองมา คือ ฝรั่งเศส พอเข้าใจแล้วนะครับว่า ทำไมนายกรัฐมนตรี อเล็กซิส ถึงเอาดอกกุหลาบแดงไปวางที่อนุสรณ์สถาน
ก่อนการให้เงินกู้ จำนวนมโหฬาร IMF หัวหน้าใหญ่ของกลุ่มเสือหิว ที่เป็นผู้นำการกำหนดเงื่อนไข ลายโซ่คล้องคอชาวกรีซ บอกว่าการใช้จ่ายของกรีซ หนักไปที่ค่าจ้าง เป็นจำนวน ถึง 75% ของงบประมาณรายจ่าย แยกเป็นค่าจ้าง พนักงานของรัฐ ทั้งประจำ และชั่วคราว ค่าจ้างแรงงานคนทำงาน ค่าสวัสดิการ ค่าเบี้ยบำนาญ ของคนที่ทำงานมาจนแก่เหลือแต่เหงือก
ถ้ายังจำกันได้ กรีซจัดงานแข่งกีฬาโอลิมปิค ในปี ค.ศ. 2004 ยิ่งใหญ่ และสวยงาม แน่นอนก่อนจัดงาน ต้องมีการปรับปรุงสาธารณูปโภค ถนนหนทาง ไฟฟ้า น้ำประปา ทั้งประเทศรวมทั้ง การก่อสร้าง สนามกีฬา บ้านพักนักกีฬา และอีกหลายๆอย่าง เพื่อรองรับการแข่งขัน และผู้มาชม ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 ปี รายจ่ายของกรีซทั้งด้านแรงงาน และด้านก่อสร้าง ไม่บานทะโล่ ก็คงแปลกอยู่
นอกจากนี้ยังมีหนี้ส่วนบุคคลของชาวกรีก ที่เห็นเป็นโอกาสที่ทำเงิน ด้วยการสร้างที่พัก สำหรับนักท่องเที่ยว ร้านอาหาร บริการรถเช่า ฯลฯ ซึ่งสร้างขึ้นมาจากเงินกู้เกือบทั้งสิ้น
และ นี่ ก็เป็นอีกความผิดพลาด อีกรายการของกรีซ กีฬาโอลิมปิคสวยงาม สร้างชื่อเสียงให้กับกรีซ และก็สร้างหนี้ให้กับกรีซด้วย กรีซขาดทุนย่อยยับ ขายของ ไม่ได้ราคาคุ้มทุนที่ลง แถมมีหนี้ติดค้างทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เลยเป็นโอกาสให้ IMF ผู้ชำนาญการ สั่งให้กรีซ ตัดรายการจ้างงาน และสวัสดิการ ขณะที่กรีซ พยายามขายการท่องเที่ยวประเทศของตัวเองต่อ เพื่อเอาทุนคืนจากการขาดทุนโอลิมปิค IMF ปิดประตูการจ้างงาน เปิดให้ครึ่งบานและครึ่งวัน ที่พัก ร้านอาหารเริ่มโทรม เมื่อมีลูกจ้างมาทำงานไม่พอให้บริการ นักท่องเที่ยวที่ไหน อยากจะไปเที่ยว แล้วยกกระเป๋า และ ล้างจานเอง
ถ้าไม่แน่ใจว่า การจัดงานกีฬาโอลิมปิค ไม่ได้สร้างกำไรเสมอไป ก็ลองไปถามคุณปากจีบ นายกรัฐมนตรี ของชาวเกาะใหญ่เท่าปลายนิ้วก้อยฯ ได้ว่า หลังจาก กระเสือกกระสน จัดการแข่งกีฬาโอลิมปิค เมื่อปี 2012 แล้วเป็นไง ตอนนี้ เลยต้องตัดงบสาระพัด รวมทั้งงบด้านกองทัพ เล่นเอาคุณพีปูตินของผม หัวร่อ ฮิ ฮิ
จึงไม่เป็นเรื่องน่าแปลกใจ ที่ ในปี 2010 อัตราว่างงานของกรีซ เพิ่มขึ้นเป็น 15% ทุก 7 คนกรีก จะมีคนว่างงาน 1 คน ! เริ่มมีการประท้วงรัฐบาล การเมืองง่อนแง่น และกรีซ ก็ต้อง กู้เงินจาก อัศวิน Troika เพิ่มขึ้นอีก และโซ่คล้องคอชาวกรีซ ก็หนักขึ้นทุกที ชาวกรีซ ก็จมลงในเหวลึกลงไปทุกที
ปี ค.ศ.2011 สถานการณ์ของกรีซ แย่ลงกว่าเดิม รัฐบาลไหนมาก็แก้ปัญหาไม่ได้ ได้แต่กู้เพิ่มเพื่อเอามาใช้หนี้เก่า หมุนไปเรื่อยๆ รัฐบาลกรีซคิดหาทางทางออกไม่เจอ เขิญผู้เชี่ยวชาญมาช่วยคิด
OECD ซึ่งเป็นหน่วยงาน ที่อ้างว่ามีหน้าที่คอยแนะนำประเทศ ที่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ ภายใต้เสื้อคลุม ที่ไอ้นักล่าใบตองแห้ง คิดขึ้นมาหลังจากคิดสร้าง World Bank, IMF บอกกรีซต้องหารายได้เพิ่มด้วยการเก็บภาษีเพิ่ม ใช้มาตรการเด็ดขาดกับผู้หนีภาษี และขายรัฐวิสาหกิจที่สร้างกำไรออกไปให้กับนักธุรกิจ และขายทรัพย์สินของประเทศ เพื่อเอามาใช้หนี้ ชาวกรีก เริ่มรู้ตัวว่า กำลังถูกแร้งลง ออกมาประท้วง ไม่ยอมให้รัฐบาลขายรัฐวิสาหกิจ กับทรัพย์สินของประเทศ บอกไปเก็บภาษีจากพวกคนรวยๆ และพวกหนี้ภาษีด่วนเลย
กรีซ น่าจะเห็นแล้วว่า ตัวเองถูกต้ม และเป็นเหยื่อ ของเหล่านักล่า หมาไน และก่อนสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ ถ้าตัดสินใจผิดอีก คราวนี้ คงถึงแร้งลง
สวัสดีครับ
คนเล่านิทาน
26 มิ.ย. 2558
source
https://www.facebook.com/permalink.php? ... ry_index=0